วันอังคารที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2550

หัวใจกระโดด

หัวใจเป็นอวัยวะที่ธรรมชาติออกแบบมาอย่างดี ทำหน้าที่สูบฉีดโลหิตไปเลี้ยงส่วนต่างๆของร่างกายเพื่อนำอาหาร ออกซิเจน ไปสู่เซลล์ของอวัยวะต่างๆ และนำพาของเสียออกจากเซลล์เหล่านั้นไปขับถ่ายออกจากร่างกาย องค์ประกอบของหัวใจส่วนใหญ่ คือ เซลล์กล้ามเนื้อทำหน้าที่บีบและคลายตัวแบ่งออกเป็น สี่ห้อง คือห้องบนซ้ายขวา และห้องล่างซ้ายขวา มีลิ้นหัวใจบังคับให้เลือดไหล ไปในทิศทางเดียว คือจากเลือดดำหัวใจห้องขวาไปฟอกที่ปอด กลับมายังหัวใจ ห้องซ้ายเป็นเลือดแดงและสูบฉีดออกจากหัวใจ ทางหลอดเลือดแดงใหญ่เอออต้า

การที่หัวใจจะทำงานได้ดีเช่นนี้ต้องมีระบบหลอดเลือดไปเลี้ยงเซลล์กล้ามเนื้อหัวใจ เรียกกันว่า หลอดเลือดโคโรนารี่ โรคที่เกิดเเก่ หลอดเลือดโคโรนารี่ อันเกิดจากไขมันอุดตัน เป็นโรคที่พบได้บ่อย ทำให้กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด หรือเกิดกล้ามเนื้อหัวใจตาย มีอาการเจ็บแน่นหน้าอก หรือถึงกับหัวใจล้มเหลว เป็นอันตรายถึงชีวิตได้ นอกจากนั้นยังมีระบบไฟฟ้าในหัวใจที่ทำหน้าที่ให้จังหวะ การเต้นของหัวใจให้เต้นอย่างสม่ำเสมอ และ มีเซลล์กล้ามเนื้อหัวใจ ทำหน้าที่พิเศษนำไฟฟ้าออกจากแหล่งกำเนิดที่ให้ จังหวะการเต้นลงไปถึงยังเซลล์กล้ามเนื้อหัวใจทุกเซลล์ในเวลาใกล้เคียงกัน กล่าวง่ายๆ คือมีแหล่ง ให้กำเนิด จังหวะการเต้นและสายนำไฟฟ้าไปยังเซลล์กล้ามเนื้อหัวใจ เหมือนกับมีโรงผลิตไฟฟ้า และ มีสายไฟฟ้านำไฟจ่าย ไปตามบ้านเรือนต่างๆ

โรคอันเกิดจากระบบไฟฟ้าหัวใจก็มีหลายอย่าง ทั้งชนิดที่เกิดจากแหล่งกำเนิดจังหวะไฟฟ้าหยุดทำงานหรือทำงานผิดปกติ ทำให้ จังหวะการเต้น ของหัวใจไม่สม่ำเสมอ เต้นๆหยุดๆ เต้นเร็วไปบ้าง เต้นช้าไปบ้าง ความรู้สึกที่เกิดขึ้น ถ้าเต้นเร็วไป ก็จะมีอาการใจสั่น ถ้าช้าไปมากๆอาจจะมีอาการ หน้ามืดหรือเป็นลมหมดสติ บางครั้งแหล่งกำเนิดจังหวะไฟฟ้า อาจจะออก จากตำแหน่งอื่นในหัวใจที่ ไม่เป็นไปตามธรรมชาติที่เกิดขึ้นมาเองภายหลัง เนื่องจากมีความผิดปกติทางระบบไฟฟ้าต่อเซลล์ ของกล้ามเนื้อหัวใจซึ่งจะเกิด ได้ทั้งจากหัวใจห้องบนและห้องล่าง ทำให้เกิดมี หัวใจกระโดด คือ เต้นมาก่อนกำหนดที่ควรจะเต้น ผู้ป่วยบางรายที่มีหัวใจเต้น กระโดดก็ไม่มีอาการอะไร บางรายก็มีความรู้สึกว่าจังหวะการเต้นหัวใจรวนผิดปกติไป บางทีความผิดปกติ ที่เกิดแก่ระบบไฟฟ้าหัวใจ ก็อยู่ที่ทางเดินไฟฟ้าที่นำไฟฟ้าจากห้องบนลงสู่ห้องล่าง เมื่อเกิดความติดขัดแก่ทางเดินไฟฟ้า หัวใจก็มัก จะมีจังหวะการเต้นช้าลง ถ้าช้าลงไม่มากอาการก็น้อย ถ้าช้าลงมากก็อาจมีอาการหน้ามืดเป็นลมหมดสติได้ ในผู้ป่วยบางรายที่มี ทางเดินไฟฟ้าผิดปกติ แต่ กำเนิดหรือมาเป็นภายหลังก็อาจจะเกิดไฟฟ้าลัดวงจร ทำให้เกิดหัวใจเต้นเร็วฉับพลันขึ้นมาได้ มีอาการ ใจสั่นและเหนื่อยเหมือน ไปออกวิ่งไกลๆ

โดยคำนิยาม " หัวใจกระโดด " ที่จะกล่าวถึงในบทความนี้ หมายถึงการเต้นผิดจังหวะของหัวใจทุกชนิด ทั้งชนิดเร็วเกินไป ช้า เกินไป ชนิดเป็นๆหายๆ และชนิดเป็นถาวร เราจึงต้องมาพูดถึงการเต้นจังหวะปกติว่าเป็นอย่างไรเสียก่อน การเต้นจังหวะปกติ คือ จังหวะสม่ำเสมอในอัตราการเต้น 60 ถึง 100 ครั้ง ต่อนาทีโดยไฟฟ้าเดินทางออกจากส่วนบนของหัวใจห้องบนขวาลงมายังห้องล่าง

อัตราการเต้นในจังหวะปกตินี้จะแปรเปลี่ยนไปได้ตามการหนักเบาของการทำงาน หรือการออกกำลังของร่างกายในขณะใดขณะหนึ่ง เช่น นอนพักผ่อน สบายๆ จะมีอัตราการเต้น 60 ครั้งต่อนาที ออกเดินช้าๆ อัตราการเต้นเพิ่มขึ้นเป็น 70 ครั้งต่อนาที ออกวิ่งช้าๆ อัตราการเต้นเป็น 100 ครั้งต่อนาที ออกวิ่งเร็วๆ อัตราการเต้นเป็น 140 ครั้งต่อนาที

เมื่อเรารู้แล้วว่าเต้นปกติคืออย่างไร เราก็เข้าใจได้ว่าการเต้นจังหวะที่ผิดเพี้ยนไปจากนี้ คือการเต้นกระโดด เช่น นั่งอยู่ดีๆหัวใจเต้น เร็วขึ้นมาทันทีจาก 80 ครั้งต่อนาที เป็น 160 ครั้งต่อนาที หรือมีการเต้นมาก่อนกำหนด หรือเต้น 2 จังหวะ หยุด 1 จังหวะ เป็นต้น

อาการที่พบในขณะที่หัวใจกระโดดมีได้แตกต่างกัน บางคนจะไม่มีอาการอะไรเลย แม้จะมีหัวใจกระโดดอยู่ตลอดเวลา บางคนจะ มีอาการใจสั่นใจหวิว บางคนมีอาการหัวใจบีบตัวแรงในบางจังหวะ บางคนมีอาการเหนื่อยทั้งๆที่นั่งอยู่เฉยๆ บางคนมีอาการเพลีย หมดแรงไม่อยากทำอะไร อยากนอนตลอด ในขณะที่หัวใจกระโดด บางคนมีอาการหน้ามืด จนถึงหมดสติถ้าหัวใจเต้นช้าหรือมี จังหวะที่หยุดเต้นนานเกิน 3 วินาที เนื่องจากอาการมีแตกต่างกันมาก และหัวใจกระโดดก็มีหลายชนิด การฟังจากอาการอย่างเดียว จึงไม่เพียงพอที่จะบอกว่าเป็นหัวใจกระโดดชนิดใด จึงจำเป็นต้องอาศัยการตรวจร่างกาย การตรวจคลื่นหัวใจ การตรวจพิเศษชนิด ต่างๆ เพื่อสามารถตรวจจับได้ว่าเป็นการเต้นกระโดดชนิดใด เนื่องจากการรักษาหัวใจกระโดดแต่ละชนิดไม่เหมือนกัน ผู้ป่วยที่มี อาการหัวใจกระโดดหลายรายไปตรวจกับแพทย์แล้วอาจจะถูกสรุปว่าเป็นโรคเครียดคิดมาก ด้วยเหตุที่ว่า การกระโดดของหัวใจ เกิดขึ้นนานๆครั้ง จับตัวไม่เจอ เพราะตอนเป็นก็ไม่ได้ไปให้เเพทย์ตรวจ ตอนไปให้แพทย์ตรวจการกระโดดก็ยังไม่เกิดขึ้น บางครั้งการกระโดดของหัวใจเกิดขึ้นระยะเวลา ช่วงสั้น แม้คิดว่าจะไปหาแพทย์ทันทีก็ไปไม่ทัน การกระโดดหายไปเสียก่อน

ในกรณีที่ท่านไปพบแพทย์ปรึกษาเกี่ยวกับปัญหา "หัวใจกระโดด" แพทย์จะตรวจความดันโลหิต ตรวจจังหวะ และ อัตราการเต้นของ หัวใจ ว่าเป็นปกติหรือไม่ แพทย์จะตรวจหัวใจและหลอดเลือดโดยละเอียด ว่ามีโรคหัวใจชนิดใดอยู่หรือไม่ เพราะจะทำให้แพทย์ ทราบสาเหตุว่าทำไมหัวใจจึงกระโดด ในกรณีที่ตรวจ พบสาเหตุ การรักษาที่สาเหตุโดยตรงอาจช่วยแก้ปัญหาหัวใจกระโดดได้ง่าย ขึ้นตัวอย่างของสาเหตุที่ทำให้หัวใจกระโดด ได้แก่

1. โรคหลอดเลือดหัวใจตีบตัน ทำให้เกิดหัวใจกระโดดทั้งชนิดที่เกิดกระโดดจากหัวใจห้องล่างหรือจากหัวใจห้องบน มักมีอาการร่วมกับอาการจากหัวใจ ขาดเลือดคืออาการเจ็บแน่นหน้าอก

2. โรคที่เกิดจากความเสื่อมของจุดกำเนิดจังหวะหัวใจและทางเดินไฟฟ้าในหัวใจ อาจทำให้หัวใจเต้นเร็ว ผู้ป่วยจะ มีอาการใจสั่น ตอนหัวใจเต้นช้า จะมีอาการหน้ามืดจนถึงเป็นลมหมดสติได้

3.โรคลิ้นหัวใจตีบหรือรั่ว โรคลิ้นหัวใจตีบรูห์มาติค ทำให้หัวใจกระโดดชนิดที่มาจากห้องบนเป็นส่วนใหญ่ ลิ้นหัวใจรั่วก็อาจ ทำให้หัวใจกระโดดได้เช่นกัน

4. โรคหัวใจผิดปกติจากกำเนิด ทำให้หัวใจกระโดดได้หลายชนิด เป็นได้ทั้งก่อนการผ่าตัดแก้ไขและหลังการผ่าตัดแก้ไข รวมทั้งคนไข้ที่มีทางเดินไฟฟ้าหัวใจ ผิดปกติแต่กำเนิด เช่นโรควูฟพาร์กินสันไวท์ซินโดรม ( WPW Syndrome )

5. โรคกล้ามเนื้อหัวใจ โรคกล้ามเนื้อหัวใจบีบตัวอ่อน โรคกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ โรคกล้ามเนื้อหัวใจหนาตัวเฉพาะส่วน โดยไม่ทราบสาเหตุ ทำให้หัวใจ เต้นกระโดดชนิดร้ายแรงจนอาจถึงแก่ชีวิตได้

6. โรคทั่วไปที่ไม่เกี่ยวข้องกับหัวใจโดยตรง เช่น โรคคอพอกเป็นพิษ ก็อาจทำให้หัวใจกระโดดได้ โรคถุงลมโป่งพอง ในปอดเรื้อรัง

นอกจากนั้น ยาบางชนิดทำไห้หัวใจกระโดด โดยเฉพาะถ้าได้รับปริมาณมากแม้แต่การดื่มกาแฟยังเป็นเหตุให้หัวใจกระโดดได้ ความผิดปกติของระดับเกลือแร่ ในร่างกาย เช่น ระดับโปแตสเซียมต่ำเป็นเหตุให้หัวใจกระโดดได้มาก ระดับความสมดุลของ ระบบประสาทอัตโนมัติ มีผลต่อการกระโดดของหัวใจอยู่ด้วย อย่างไรก็ตามมีผู้ป่วยจำนวนหนึ่งที่ตรวจไม่พบสาเหตุที่ชัดเจน

หัวใจกระโดดที่มีบ่อยหรือเป็นอยู่ตลอดเวลา การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจก็มักจะบอกได้ว่าเป็นการกระโดดชนิดใด และควรจะรักษา อย่างไร แต่มีไม่น้อย ที่ทำคลื่นไฟฟ้าหัวใจหลายครั้งก็ยังไม่พบว่าเป็นการเต้นกระโดดชนิดใด จำเป็นต้องอาศัยการตรวจพิเศษ เพิ่มเติม ได้แก่

1.การติดเทปบันทึกคลื่นไฟฟ้าหัวใจต่อเนื่อง 24 ชั่วโมง ( Holter monitoring ) โดยอาศัยเทปหรือการบันทึกคลื่นไฟฟ้าหัวใจชนิดดิจิตอล ทำให้เราสามารถ ตรวจดูคลื่นไฟฟ้าหัวใจที่ได้บันทึกไว้ตลอด 24 ชั่วโมงได้ คนไข้จะต้องติดสายและติดเครื่องบันทึกไว้กับตัวตลอดหนึ่งวัน เครื่องบันทึกนี้มีขนาดเล็กเท่าขนาด โทรศัพท์มือถือ ถ้าการกระโดด นั้นไม่เกิดขึ้นใน 24 ชั่วโมงที่ติดเครื่องบันทึก ก็ยังอาจตรวจจับไม่ได้บางรายต้องติดหลายครั้งจึงพบ

2.การใช้เครื่องบันทึกคลื่นไฟฟ้าหัวใจชั่วคราวชนิดพกติดตัวได้สะดวก มีขนาดเครื่องเล็กเท่า pager ติดตามตัว และบางบริษัทผลิตเป็นขนาดบางเล็ก เท่าเครดิตการ์ด พกติดไว้ในกระเป๋า ถ้าเกิดอาการหัวใจกระโดดก็นำมาแนบที่หน้าอก กดปุ่ม เครื่องจะบันทึกคลื่นไฟฟ้าหัวใจไว้เป็นเวลา 30 วินาที เมื่อ นำไปให้แพทย์ถ่ายคลื่นไฟฟ้าลงบนกระดาษ ก็จะทราบว่าเป็นหัวใจ กระโดดชนิดใดได้ เครื่องชนิดนี้เหมาะแก่การกระโดดชนิดนาน ๆ เป็น ครั้งหนึ่ง และเป็นแล้วหายเร็วไปพบแพทย์ไม่ทัน แต่ไม่ เหมาะกับการเต้นผิดจังหวะชนิดที่มีอาการหน้ามืด เป็นลม หมดสติ

3.การตรวจโดยการเอียงเตียง ( Tilt Table Test ) ในผู้ป่วยอายุน้อยที่มีอาการหน้ามืดเป็นลมบ่อย ที่สงสัยจะเกิดจาก ระบบประสาทอัตโนมัติทำงานผิดปกติ แพทย์จะตรวจโดยการเอียงเตียงขึ้น 60-80 องศา เป็นเวลา 30-40 นาที

4.การตรวจสมรรถภาพหัวใจโดยการออกกำลัง บางครั้งเราจะตรวจการกระโดดพบด้วยวิธีนี้

5.การตรวจเช็คระบบไฟฟ้าภายในหัวใจโดยตรง เป็นการตรวจพิเศษที่ต้องใส่สายสวนหัวใจขนาดเล็ก เข้าไปภายในหัวใจ หลายตำแหน่งโดยใช้เครื่อง x-ray ช่วย รับไฟฟ้าจากภายในหัวใจหลายจุด ทำให้รู้ว่าไฟฟ้าลัดวงจรที่ใดหรือไม่ รวมทั้งอาจปล่อย ไฟฟ้าปริมาณน้อย ๆ เข้าไปกระตุ้นให้เกิดการเต้นผิดจังหวะ ที่เป็นอยู่มาปรากฎให้เห็นต่อหน้าแพทย์ได้ ถ้าตรวจพบทางเดินไฟฟ้า ผิดปกติโดยวิธีนี้ ก็อาจให้การรักษาต่อเนื่องโดยใช้พลังงานวิทยุตัดวงจรไฟฟ้าได้เลย

การรักษาหัวใจเต้นกระโดดขึ้นกับชนิดของการกระโดดที่ตรวจเจอ บางชนิดเป็นการกระโดดที่ไม่ร้ายแรงก็ไม่จำเป็นต้องให้การรักษา สามารถปล่อยให้กระโดด อยู่อย่างนั้นได้โดยเฉพาะในรายที่ไม่มีอาการและตรวจไม่พบโรคหัวใจอย่างอื่น โดยสรุปการรักษาจะมี หลายอย่าง ได้แก่

1.ไม่ให้การรักษาใด ๆ แต่ตรวจติดตามอาการเป็นระยะดังกล่าวข้างต้น

2.การรักษาโดยการใช้ยา ยาส่วนใหญ่จะรักษาการกระโดดของหัวใจได้เพียงแค่ควบคุมได้เท่านั้นมักไม่ทำให้หายขาด ตราบใด ที่ยังกินยาอยู่ก็ไม่เป็น ครั้นลืมกินยาหรือหยุดยาโดยตั้งใจ ก็มีอาการกลับมาใหม่อีก ยาทุกชนิดที่รักษาหัวใจกระโดดมักมีฤทธิ์ ข้างเคียงค่อนข้างมาก ไม่ควรซื้อทานเองตาม ร้านขายยาควรไปพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ขอคำปรึกษาจะดีกว่า

3.การรักษาด้วยเครื่องมืออีเลคโทรนิค ได้แก่การ ใส่เครื่องกระตุ้นหัวใจถาวร (Cardiac pacemaker) ในผู้ป่วยที่หัวใจเต้นช้ามากหรือตัวให้จังหวะการเต้น ไม่ทำงาน นอกจากนั้นบางคนยังจำเป็นต้องใส่เครื่องกระตุกไฟฟ้าหัวใจ ( Automatic defibrillator ) ให้หัวใจที่กระโดดชนิดร้ายแรง ถูกกระตุกกลับเป็น ปกติด้วยพลังงานไฟฟ้าได้

4.การรักษาโดยใช้พลังงานคลื่นวิทยุ ใช้หลักการ การสวนหัวใจที่ใช้เครื่องเอกซเรย์ช่วย เมื่อตรวจพบไฟฟ้าลัดวงจร ทำให้ เกิดหัวใจกระโดด เราสามารถ ใช้พลังงานคลื่นวิทยุผ่านทางสายสวนหัวใจชนิดที่มีขั้วนำไฟฟ้าที่ปลายสาย ทำให้ เกิดความร้อน ที่ปลายสายประมาณ 50-60 เซลเซียส ก็สามารถตัดวงจร ไฟฟ้าภายในหัวใจที่ผิดปกติให้ขาดจากกันได้ เป็นการรักษาที่ทำให้ หายขาดถาวรได้โดยไม่ต้องกินยาหรือมาทำการรักษาซ้ำอีก ข้อเสียของวิธีนี้ คือมีราคาแพง แต่เป็น การลงทุนเพียงครั้งเดียว ถ้าเราคิดราคาค่ายาที่เราต้องกินตลอดชีวิต ก็จะพบว่า การจ่ายเงินครั้งเดียวแล้วหาย ดีกว่ากินยาตลอดชีวิต เป็นอันมาก

5.การรักษาโดยการผ่าตัดมีหลายวิธี ได้แก่ การผ่าตัดแก้สาเหตุโดยตรง เช่น การตัดต่อทางเดินเส้นเลือดหัวใจ การผ่าตัด เปลี่ยนลิ้นหัวใจ, การผ่าตัดกล้ามเนื้อ หัวใจตายที่โป่งพองออก เป็นต้น

เราจะเห็นว่าวิวัฒนาการ การรักษาหัวใจกระโดดดีขึ้นเป็นอันมาก ทำให้การรักษาที่ไม่เคยหายขาดมาหายขาดได้ มีเครื่องมือ สมัยใหม่ช่วยในการวินิจฉัย และรักษาเกิดขึ้นหลายอย่าง การพัฒนาวิธีการรักษาคงไม่หยุดเท่านี้ นับวันเราก็จะมีวิธีต่อสู้กับ โรคต่างๆได้มากขึ้น ทำให้ชีวิตมนุษย์ยืนยาวขึ้นเรื่อยๆ เราทุกคนนับว่าโชคดีที่มาเกิดในช่วงเวลาที่มีการรักษาโรคอันทันสมัย เราจึงไม่ควรปฏิเสธการก้าวหน้าทางเทคโนโลยีเหล่านี้ ในฐานะของแพทย์ ผู้รักษาก็มีหน้าที่ต้องเพิ่มพูนความรู้ให้ทันกับ การคิดค้นใหม่ๆ เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับประโยชน์ทางวิชาการเหล่านี้โดยทั่วถึงกัน