วันอังคารที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2550

เราจะทำงานร่วมกับอัจฉริยะทางด้านพัฒนาซอฟต์แวร์อย่างไรดี?

ขอยืมมาเอาไว้อ่านจากเว็บ พี่ไท้

สำหรับคนธรรมดาสามัญอย่างเรา ที่เป็นได้อย่างมากก็แค่คนธรรมดา, คนฉลาด และคนฉลาดมาก คงไม่สามารถรู้ซึ้งได้หรอกครับว่าความเป็นอัจฉริยะนั้น เป็นยังไง?

ผมเองก็ไม่รู้เหมือนกัน เพราะผมก็แค่เขมือบความรู้ของคนอื่นไปวัน ๆ ไม่เคยคิดอะไรเองซักที ก็เลยไม่มีประสบการณ์ตรงโดยตนเอง ว่าการเป็นอัจฉริยะนั้น จะทำให้ผมรู้สึกนึกคิดเช่นไร

ในทางการแพทย์มองว่าการเป็นอัจฉริยะนั้น จะมีผลข้างเคียงเกิดขึ้นนะครับ โดยทางการแพทย์ตั้งสมมติฐานเอาไว้ว่า ผู้ที่เป็นอัจฉริยะนั้น ส่วนใหญ่แล้วจะเป็นโรค Asperger Syndrome (อ่านว่า แอส-เพอร์-เกอร์-ซิน-โดรม) ร่วมด้วย!!!

ถ้าใครไม่กดตามลิงค์เข้าไปดู ผมก็จะอธิบายให้อย่างย่อก็ได้ว่า ลักษณะเด่นของโรคนี้นั้นก็คือ ผู้ที่เป็นจะปลีกวิเวก, สันโดษ, ไม่ค่อยสื่อสารอะไรกับใคร เพราะคุยกับใครไม่ค่อยรู้เรื่อง, มีพรสวรรค์โดดเด่น แต่ถ่ายทอดไม่ดีนัก เป็นต้น

ลักษณะจะคล้าย ๆ กับโรค Autistic (อ่านว่า ออ-ทิส-ติค) อ่ะครับ อย่าไปสับสน

พอดีว่าบล็อกนี้โม้แต่เรื่องซอฟต์แวร์อย่างเดียวครับ ไม่ได้โม้เรื่องทางการแพทย์ ดังนั้นหยุดไว้แค่นี้แล้วกัน

อย่างที่เรารู้กันครับว่า บุคคลซึ่งเป็นอัจฉริยะนั้น มีกระจัดกระจายอยู่ทั่วโลก และกระจัดกระจายอยู่ในทุกสาขาวิชา ขึ้นอยู่กับว่าจะถูกส่งเสริม หรือถูกปล่อยปละละเลยแค่ไหน

โดยส่วนตัวแล้ว ตลอดชีวิตของผมนั้น ได้เคยพบกับอัจฉริยะทางด้านพัฒนาซอฟต์แวร์มาแล้วถึง 2 คน อัจฉริยะนี่ไม่ได้หมายถึงแค่ท่องจำเก่ง หรือแก้โจทย์ได้เก่งหรอกนะครับ แต่เขาอยู่ในระดับสร้างทฤษฎีทางคอมพิวเตอร์ใหม่ได้เลย!!!

เสียดายว่าทั้ง 2 คน ไม่สามารถควบคุมความเป็นอัจฉริยะของตนเองไว้ได้ครับ เนื่องจากสังคมและสิ่งแวดล้อมไม่ยอมรับแนวความคิดของพวกเขา

ล่าสุดที่ผมทราบ ทั้งสองคนกลายเป็นโรคจิตไปทั้งคู่ แย่จัง!!!

โดยสรุปแล้ว ผมยังไม่เคยทำงานร่วมกับอัจฉริยะทางด้านพัฒนาซอฟต์แวร์เลยครับ และผมเชื่องี้นะ เชื่อว่า ถ้าเขามาเป็นผู้ร่วมงานของผม หรือเป็นผู้บังคับบัญชา หรือเป็นผู้ใต้บังคับบัญชา ผมก็คงต้องสร้างกุศโลบายในหลายแบบเลยล่ะ เพื่อทำงานกับพวกเขา

ก็อัจฉริยะน่ะ มันคนธรรมดาที่ไหนกันเล่า!!!